คำปรารภ

เมื่อปี พ. ศ. 2512 หลังจากที่ผมได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกและได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภามาได้ระยะหนึ่ง ผมได้พบความจริงว่าการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มิได้หมายความเพียงว่าเรามีการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเข้ามาออกกฎหมายและควบคุมการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลเท่านั้น

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแต่แท้ที่จริงแล้ว เรายังต้องให้สิทธิแก่ราษฎรในการปกครองตนเองในระดับรากหญ้า ด้วยการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านในตำบลทั่วประเทศ นับว่าเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้รู้ปัญหาในท้องถิ่นของเขา เราควรให้สิทธิในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาของเขาด้วยตัวเขาเอง รัฐบาล และราชการส่วนกลางควรจะเป็นเพียงผู้สนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและเงินอุดหนุนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2526 ผมได้เสนอร่างกฎหมายสภาตำบลฉบับแรกต่อสภาผู้แทนราษฎรสภา ได้ผ่านขั้นรับหลักการแล้ว แต่ต่อมาสภาก็ถูกยุบไปเสียก่อนจวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2535 ผมได้เสนออีกคราวนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเป็น พ.ร.บ. สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อเดือนธันวาคม 2537

มีบางคนกล่าวว่า ประชาชนยังไม่พร้อมในการปกครองตนเอง แต่ผมมีมุมมองต่างออกไป ประชาชนมีความพร้อมแล้วเพียง แต่รอการเริ่มต้นเท่านั้น

ในระยะเริ่มแรกการบริหารของสภาตำบล และ อบต. คงยังมีความขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย และระเบียบต่าง ๆ ที่กระทรวงมหาดไทยออกมานั้น ก็ต้องศึกษา และต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

แม้ว่ากฎหมายสภาตำบล และ อบต. ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ราษฎรอาจยังไม่ได้สิทธิเต็มที่ก็ตาม แต่ต่อไปคงจะมีการแก้ไขให้ตรงกับหลักของการปกครองตนเองมากขึ้น

มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดตั้งขึ้นโดยมุ่งมั่นสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรปกครองท้องถิ่น เราจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรอื่น ๆ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมการบริหารงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเร็ว

อุดร ตันติสุนทร
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น