บพท. พมส. มบ. และทต.บางพูน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตร พมส.และร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองเพื่อการจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะ และการพัฒนากลุ่มผู้สูงวัย
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และเทศบาลตำบลบางพูน พูน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.)และร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองเพื่อการจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะ และการพัฒนากลุ่มผู้สูงวัย
วันจันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) พร้อมด้วยนักวิจัยคณะทำงานหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) นำโดย ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคุณทองเล็ก ปาตังกะโร เลขานุการมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) นำโดย รศ.ดร.พรชัย จูลเมตต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และ ผศ.ดร. พัชรินทร์ พูลทวี รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตร พมส.และร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองเพื่อการจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะ และการพัฒนากลุ่มผู้สูงวัยกับเทศบาลตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ผ่านระบบ ZOOM MEETING
สาระโดยสังเขปของการหารือนี้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) ได้พูดถึง ที่ไปที่มาของหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ โดยการยกระดับเพื่อที่จะสนับสนุนการวางแผน การบริหารจัดการอัจฉริยะ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายโดยคณะพยาบาลศาสตร์ อันมี รศ.ดร.พรชัย จูลเมตต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นผู้นำในครั้งนี้ โดยการมีข้อมูลต่างๆที่จะนำมาใช้ จะต้องสร้างความเข้าใจถึงฐานข้อมูลที่ทางเทศบาลมีอยู่ โดยได้รับการประสานจากรศ.ดร.พรชัย จูลเมตต์ มีเจตนารมณ์ที่ดีพร้อมจะสนับสนุนเทศบาลตำบลบางพูน
ทางเทศบาลตำบลบางพูนนั้นดูแลผู้สูงอายุอยู่เกือบ 4 พันคน การดูแลให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน โดยระบบสุขภาพอัจฉริยะนี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก โดยทางเทศบาลมีการจัดอบรมการดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ และฐานข้อมูลผู้สูงอายุทางเทศบาลส่วนใหญ่เก็บไว้ที่กองสวัสดิการสังคม และมี caregiver จากกองสาธารณสุข ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
โดยที่ประชุมยังได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยบูรพา ช่วยพัฒนาฐานข้อมูลต่างๆ และช่วยดูกับทางเทศบาลที่มีว่าฐานข้อมูลที่ทางเทศบาลเก็บไว้อยู่เป็นอย่างไรบ้าง และการลงไปสัมผัสพื้นที่เทศบาลตำบลบางพูน รวมถึงของดี ที่เด่น คนดัง ของทางเทศบาล
โดยทางผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวถึงฐานข้อมูลสุขภาพต่างๆที่ทางเทศบาลเก็บไว้เป็นรูปแบบไหนบ้าง เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ทางเทศบาลนั้นมีอยู่ และการกล่าวอีกว่า “การพัฒนาระบบสุขภาพอัจฉริยะ คือผลผลิตหลัก และผลผลิตรองคือ ของดี ที่เด่น คนดัง”
สำหรับการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตร พมส.และร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองเพื่อการจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะ และการพัฒนากลุ่มผู้สูงวัย ในครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจในด้านต่างๆ และระบบสุขภาพอัจฉริยะนี้จะมีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุของทางเทศบาลบางพูนอย่างมากในอนาคตและเพื่อพลิกโฉมเมืองด้วยแพลตฟอร์มระบบสุขภาพอัจฉริยะ