OPSCD COLA KKU ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม พมส. รุ่น 1 กับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงานในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่น 1 กับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงานในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงาน ในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ในวันที่ 11 มกราคม 2566 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นกิจกรรม โดย รศ. ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. กล่าวทบทวนเป้าหมาย “การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ” กับผู้ร่วมหลักสูตรฯ
จากนั้นได้รับเกียรติ จาก ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายในหัวข้อ “เปลี่ยนเมือง “เปลี่ยน” ประเทศ” โดยมองว่าการเติบโตของเมืองเป็นโอกาส และเป็นภาระ มีทั้งความสร้างสรรค์และอนาคต ทั้งนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจเมือง คือหัวใจสำคัญที่สุด การออกกฎหมายมามาก แต่คุณภาพเมืองมีปัญหาก็จะยังเป็นปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่ท้องถิ่น และอยู่ที่วิธีคิด โดยมีงานวิจัยเป็นตัวส่งเสริมศักยภาพให้ดีขึ้น การกระจายอำนาจจึงไม่เป็นเพียงแค่การส่งมอบโรงเรียนและ รพ.สต. ให้กับท้องถิ่น แต่เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหารูปแบบต่าง ๆ ดังเช่น เมืองเชียงคานที่มีการต่อรองเชิงโครงสร้างอำนาจในการจัดการเมือง และให้ความสำคัญกับการกำหนดจิตวิญญาณของเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญจึงเป็นในส่วนของวิสัยทัศน์ของผู้นำ ในการนี้ บพท. จะเป็นหน่วยงานที่มีกลไกสำคัญในการระดมทุน ผ่านสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการความคิดที่ได้รับการระดมมาเพื่อเอาอำนาจจากทิศทางอื่น ๆ มาช่วยตัดสินใจ โดยมีหัวใจสำคัญของท้องถิ่น คือประสิทธิภาพ นั่นคือการมีอิสระในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย ยังได้นำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง “การระเบิดจากข้างใน” ให้ท้องถิ่นรู้จักคิดและดำเนินการได้ด้วยตนเอง ด้วย
สำหรับหัวข้อ “พลิกองค์กรอย่างไร ให้ไล่ทันโลก” โดย ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นั้น ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของประชากร และสภาพภูมิอากาศทำให้ต้องกลับมาคิดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความยืดหยุ่นและยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญอยู่ที่ท้องถิ่นทั้งหลาย เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ความเป็นผู้นำคือสิ่งที่มีความสามารถมาก บทบาทของผู้นำต้องเปลี่ยนไป จุดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จะต้องยึดมั่นไว้ให้ได้ ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนผ่านของดิจิทัล สำคัญสุดคือวัฒนธรรมองค์กร เมื่อเปลี่ยนแล้วค่อยไปต่อด้วยสภาพแวดล้อมการทำงาน ผู้นำก็ต้องเปลี่ยน ผู้นำต้องทำตัวเป็นโค้ชในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังได้มาให้ความรู้ในหัวข้อ “อปท.ยุคใหม่ ใช้วิจัยเป็นฐาน” โดยได้เน้นย้ำถึงการทำท้องถิ่นให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ต้องลบวาทกรรมไม่มีความรู้ หรือแม้ในเรื่องการทุจริตคอรัปชัน สิ่งแรกที่ควรทำคือการสร้างกรอบวิชาการ ท้องถิ่นมีความจำเป็นจะต้องสร้างบนฐานการเรียนรู้จะใช้สามัญสำนึก (Common Sense) แบบแต่ก่อนไม่ได้ เพราะในอดีตไม่มีการทำงานวิจัยเชิงลึก วิทยาการต่าง ๆ ที่เข้ามาต้องมีการปรับเปลี่ยน ดังนั้นการใช้ความรู้ในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโลกในปัจจุบันมีความหลากหลาย สังคมที่มีการศึกษามากขึ้น รวมถึงคนทุกวันนี้มีความเป็นปัจเจกชนสูงมาก ต้องใช้งานวิจัยเข้ามาวิเคราะห์กรอบความรู้ในฐานะผู้นำท้องถิ่นและควรใช้วิธีคิดการเป็นวิทยาศาสตร์ และท้องถิ่นเองควรมีการวางแผน 10 ปีเพื่อเป็นเข็มทิศให้ทิศทางของผู้นำต่อไป ซึ่งความเป็นท้องถิ่นหลักปรัชญาที่แท้จริงคือ เชื่อว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า อย่างรวดเร็ว และทันเวลา ไม่ควรใช้แบบเดิมเพราะอาจทำให้ไม่ทันเวลา ความเป็นท้องถิ่นมีความเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชน วิธีการคิดแบบรัฐอย่างเดียวจะเป็นไปไม่ได้ ต้องคิดตามความต้องการของประชาชนให้ได้ดีที่สุด
และสำหรับหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอโครงงานวิจัย” โดย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ (บพท.) และ ดร.จักรพันธ์ จุลละโพธิ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ได้ให้ความเห็นในในเรื่องการพัฒนาข้อเสนอโครงงานวิจัยว่า บพท. ทำหน้าที่บริหารกองทุนเพื่อให้เกิดวิจัยนวัตกรรมของส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงร่วมกันกำหนดประเด็นการปฏิบัติการบนพื้นฐานการวิจัย เป็นการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงสร้างโจทย์ร่วมกัน และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีพันธมิตรทางวิชาการจากส่วนต่าง ๆ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการปฎิบัตการบนพิ้นฐานการวิจัย ต้องมีข้อมูลในการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนนักบริหารกลายเป็นนักพัฒนา การที่จะรู้ว่าพื้นที่มีศักยภาพหรือไม่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูล ซึ่งเป็นตัวที่สำคัญ ทำให้ข้อมูลมีประโยชน์ในการพัฒนารายได้และข้อมูลสาธารณะ การพิจารณาความต้องการจะต้องดูความต้องการที่จะขับเคลื่อนถึงความต้องการ
ซึ่งในการเข้าร่วมครั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจพัฒนาโครงงานวิจัย โดยมีกลุ่มเทศบาลนำร่อง 15 แห่ง ที่มีการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ การจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะ 3การจัดการภัยพิบัติ การสร้างเศรษฐกิจฐานราก การศึกษาที่ตอบโจทย์โลกอนาคต การพัฒนาคนเพื่อสร้างองค์กรอัจฉริยะ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการทำกิจกรรมในส่วนของเทศบาลต้นแบบนั้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ด้านภาษี การจัดการภัยพิบัติ และการจัดการสุขภาพของประชาชน ในขณะเดียวกันมีเทศบาลอื่น ๆ ที่ได้เข้าร่วมอบรมได้แบ่งกลุ่มตามความถนัดและความสนใจเพื่อถกประเด็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาข้อมูลเมืองเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ พร้อมยกตัวอย่างการแนวทางการช่วยเหลือในการพัฒนาโครงงาน และได้มีการแนะนำการเขียนและเตรียมความพร้อมในการนำเสนอโครงงาน
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงาน ในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ขอแงหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ในวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 2 ซึ่งได้มีกิจกรรมการนำเสนองานแบบพิชชิ่ง (Project Pitching) เพื่อรับการสนับสนุนทุนอุดหนุนสมทบในการดำเนินโครงงานปฏิบัติการพัฒนาเมือง สำหรับปฏิบัติการพัฒนาเมืองที่ 4 (Pitching ทุน สนับสนุนโครงงาน) ทางด้าน รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้กล่าวถึงการนำเสนอโครงงานครั้งนี้ว่าใน 6 เดือนแรกของการอบรมเป็นเรื่องของความรู้ แต่อีก 6 เดือนหลังจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานการวิจัย การนำเสนอครั้งนี้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการนำเสนอโครงการเพราะยังไม่มีความสมบูรณ์แบบ การวิจัยไม่มีคำว่าสมบูรณ์ที่สุด การนำเสนอต่าง ๆ ก็ยังต้องตอบข้อซักถามและเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกอย่างเป็นเวทีของการเรียนรู้ ผลจากการนำเสนอนี้คือลงมือแล้วอยากให้เห็นภาพ โดยมีการเชื่อมโยงกันคือมูลนิธิที่ต้องส่งมอบ รวมถึงผู้ทำจะเกิดผลประโยชน์ แผนดิจิทัลท้องถิ่นน่าจะทำให้เสร็จในเดือนพฤษภาคม ร่างงานวิจัยนี้ต้องเสร็จและนำไปบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงการแปลงแผนไปสู่งานปฏิบัติ โดยนำไปสู่การจัดทำเทศบัญญัติ อีกส่วนที่ทำแล้วได้ประโยชน์คือความเชื่อมโยงต่อสำนักงบประมาณ ฐานข้อมูลเมืองแต่ละเมืองจะต้องเสร็จในอีก 2 – 3 เดือนอีกข้างหน้า ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการนำเสนอโครงงานในของเทศบาลตำบลนางแล มุ้งเน้นการทำเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ต่อมาคือเรื่องผู้ป่วยติดเตียงและติดบ้าน จากข้อมูล อสม. กับสาธารณสุข มีข้อมูลไม่ตรงกัน โดยนำมาบูรณาการเป็นข้อมูลชุดเดียว และเทศบาลเมืองลำพูน ได้นำเสนอว่าลำพูนเป็นเมืองสังคมกึ่งชนบท เน้นการที่คนอยู่และมีความสุข เน้นการอยู่ให้ได้มากที่สุด เพราะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ จากงานวิจัยพบว่ามีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจจำนวนมาก มุ่งเน้นในส่วนการทำงานวิจัยในด้านสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูล สปสช. อาจมีข้อมูลของเด็กแรกเกิด จากอัตราการเกิดน้อยและการตายจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เมืองต้องพบ ในขณะที่เทศบาลตำบลคอนสวรรค์มุ่งเน้นเรื่องการจัดเก็บขยะในการก่อให้เกิดรายได้แก่เทศบาล และการมีแผนความพร้อมของดิจิทัล การทำแผนแม่บท การพัฒนา Dashboard และการพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะของเทศบาล
นอกจากนี้เทศบาลตำบลแม่จันที่เผชิญกับปัญหาน้ำหลากก็ได้มีการนำเสนอโครงงานนี้โดยการออกแบบระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาจากระบบแจ้งเตือน ส่วนเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ที่มีทิศทางการพัฒนาเมืองจากทุนทางวัฒนธรรมเดิมก็ได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยต้องการพัฒนาถนนคนเดินของเทศบาลให้มีลักษณะที่ต้องขายของทุกอย่างได้ในพื้นที่ค่อนข้างแคบตรงศาลหลักเมือง นอกจากนี้ยังมีหอโบราณคดี หากมีการจัดการฐานข้อมูลเศรษฐกิจจะสามารถพัฒนาระบบความซ้ำซ้อน และสุดท้ายเทศบาลตำบลพระแท่น ได้นำเสนอโครงงานในประเด็นการวางแผนในการวางท่อ การมีอ่างเก็บน้ำในช่วงภัยแล้ง เพราะการมีโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้สามารถวางแผนการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้อมูลจะสามารถทำให้เห็นภาพต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้เมืองนั้นเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในการพัฒนาเมืองและเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเมือง เพื่อให้เมืองนั้นมีการพัฒนาไปอย่างมีทิศทาง