หลักสูตร พมส.รุ่น 1 ครั้งที่ 10 เดินหน้าผลักดันองค์ความรู้การพัฒนารายได้และกลไกการเงินใหม่ (Financial Mechanism & Special Purpose Vehicle) ให้กับนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของ บพท.
หลักสูตร “นักพัฒนาเมืองระดับสูง” รุ่น 1 ครั้งที่ 10 เดินหน้าผลักดันองค์ความรู้การพัฒนารายได้และกลไกการเงินใหม่ (Financial Mechanism & Special Purpose Vehicle) ให้กับนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 หลักสูตรที่อิงอยู่บนฐานคิดประสบการณ์ของทุกคน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กรอบการวิจัยยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดการอบรม ในหัวข้อ การพัฒนารายได้และกลไกการเงินใหม่ (Financial Mechanism & Special Purpose Vehicle) และปฏิบัติการกลุ่มพัฒนาข้อเสนอโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 10 ในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 – 16.00 น. ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมภาคีพัฒนาพื้นที่จากทั่วประเทศกว่า 100 คน
สำหรับกิจกรรมในช่วงแรกนั้น เป็นการบรรยายพิเศษหัวข้อ: “นวัตกรรมการบริหารและการคลังท้องถิ่น” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (กกถ.) และอาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อันมีประเด็นสนทนาที่เชิญชวนให้ติดตาม ดังนี้
- ความก้าวหน้าการกระจายอำนาจ บริการสาธารณะ นวัตกรรมและการคลัง ความเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง การถ่ายโอนภารกิจ ของ รพสต. สถานศึกษา ความตื่นตัวด้านการบริหาร ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ เศรษฐกิจดิจิทัล และการคลังท้องถิ่น
การกระจายอำนาจที่ผ่านมาและการขับเคลื่อนในระยะหลัง ในการถ่ายโอนภารกิจ กำหนดตั้งแต่ พรบ. แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ 2542 แต่ในปัจจุบันยังคงดำเนินการมาได้ถึงครึ่งทางและยังคงต้องมีการดำเนินต่อไป ในส่วนของ รพสต. ที่ถ่ายโอนตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – 2564 นั้น มีจำนวนโดยประมาณ 50 แห่ง จากจำนวนของ รพสต. ทั้งหมดกว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศ การถ่านโอนสถานศึกษาทที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันนั้น มีประมาณ 545 แห่ง เปรียบเทียบกับ 3 หมื่นกว่าแห่งที่ดำเนินการโดยส่วนกลาง
การกระจายอำนาจด้านการคลัง 2 ช่วง ช่วงแรกคือ 2544 – 2549 เป็นการขยายตัวเร็ว และช่วงหลัง 2550 – 2565 เป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ
การขับเคลื่อนการถ่ายโอน รพสต และสถานศึกษา กับความตื่นตัวในปี 2566 การถ่ายโอน รพสต 3,264 แห่ง ให้ 49 จังหวัด เป็นผลงานของคณะอนุกรรมการถ่ายโอน รพสต (นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธาน)
นวัตกรรมการบริการสาธารณะ มีความตื่นตัวของ อปท. ในการพัฒนาบริการสาธารณะรูปแบบใหม่ หลายมิติ อาทิ One Stop Service, Application การประยุกต์เทคโนโลยีการสื่อสาร, การพัฒนาฐานข้อมูล แผนที่ภาษา, สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้จัดสรรเงินรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดีและนวัตกรรม ตั้งแต่ 2546 – ปัจจุบัน รัฐบาลให้เงินอุดหนุน 147 ล้านบาท เป็นเงินรางวัลในปี 2565 ได้บันทึก”นวัตกรรมท้องถิ่น” จำนวนมากมาย จำแนกประเภท จัดการสิ่งแวดล้อม จัดการศึกษา สาธารณสุข กิจกรรมผู้สูงอายุและสวัสดิการ ฯลฯ
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ยังได้กล่าวถึง ฐานข้อมูลรายได้ทั่วประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการคลังท้องถิ่นในปี 2564 พร้อมทั้งความเหลื่อมล้ำของรายได้ (จัดเก็บเอง R1) จากหน่วยวิเคราะห์ เทศบาล อบต. จำนวน 7,772 แห่ง ทั่วประเทศ, ภาษีแบ่ง หรือ ภาษีที่หน่วยงานรัฐจัดเก็บให้ (R2), เงินอุดหนุนต่อหัว (R3 ตัวแปรนโยบาย) อีกด้วย
ต่อมาเป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับหัวข้อการบรรยาย ที่ควรจะปฏิรูปเงินอุดหนุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไปโดยหลัก ๆ สามารถสรุปได้ ดังนี้ การลดความเหลื่อมล้ำทางการคลัง สามารถดำเนินการผ่านเงินอุดหนุน แต่ต้องใช้เวลาการปรับตัว เพราะการเพิ่มเงินอุดหนุนให้อบต./เทศบาลตำบล เพิ่มขึ้น หมายถึง เงินอุดหนุนต่อเทศบาลนคร/วเมือง ลดลง ความแตกต่างในขณะนี้เป็นหลัก “พันบาทต่อคน” ถ้าปรับลดรุนแรง อาจจะเป็นปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับ แนวทางที่เป็นไปได้และค่อยเป็นค่อยไป เช่น จัดกลุ่มอปท. เป็น 5 กลุ่ม q1 q2 q3 q4 q5 การจัดสรรเงินอุดหนุนควรจะลดหลั่นกัน มากที่สุดควรจะเป็น q1 และ q2 น้อยที่สุดคือ q5
ต่อเนื่องในช่วงบ่าย เป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อมูลเปิด: โฉมหน้าใหม่ของการพัฒนาท้องถิ่นไทย” (Open Data: New Face of City and Local Development) โดยคุณชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมีหัวข้อที่สำคัญในการบรรยาย ดังนี้
ท้องถิ่นในอนาคต: 1) ท้องถิ่นแบบเปิด (open local government) ที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและประเด็นการทำงานต่าง ๆ หน่วยงานใดตลอดจนมุ่งทำงานเพื่อตอบสนองต่อประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบ 2) เสรีภาพตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร (Freedom of information laws) 3) การปกป้องผู้นำข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายในองค์กรออกมาเผยแพร่ (whistleblowing) 4) ความรับผิดชอบทางการเงินและการตรวจสอบ (financial accountability and auditing) 5) เสรีภาพของสื่อมวลชน (investigative journalism) 6) ความกระฉับกระเฉงของภาคประชาสังคม (civil society campaign) ในการตรวจสอบและเรียกร้องการเปิดเผยข้อมูลประเภทต่าง ๆ สู่สาธารณะ เป็นต้น
หลักการพื้นฐานและมาตรฐานด้านการเปิดเผยข้อมูลในระดับนานาชาติ (Basic Principles and Global Standard of Open data): “ข้อมูลสาธารณะ (open data)” และ “ความโปร่งใส (transparency)” การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ (Social & Economic Development) มุ่งหวังให้ นำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ความโปร่งใส (transparency) จำเป็นจะต้องมีลักษณะการบริหารงานที่ใสสะอาด เผยให้เห็นข้อเท็จจริงทางการบริหารได้ในทุกรายละเอียดบริหารงานอย่างมีความรับผิดชอบและพร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพื่อตรวจสอบการทำงานจากทุกภาคส่วนตลอดเวลา
“ข้อมูลสาธารณะ (open data)” ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกพิจารณาว่าเป็นข้อมูลสาธารณะ ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนำไปใช้ประโยชน์เรียกใช้ข้อมูลซ้ำหรือเผยแพร่ข้อมูลได้ หรือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Legally open) รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลในเชิงเทคนิค (technically open) หมายถึง ข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวจะต้องไม่สร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการผลิตซ้ำหรือการดาวน์โหลดเอกสารที่สามารถทำความเข้าใจได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น จากนั้นคุณชนิดา อาคมวัฒนะ ได้มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ การพัฒนาระบบข้อมูลสาธารณะระดับประเทศ (Country-level Open Data) กรณีศึกษา : สาธารณรัฐอิตาลี การพัฒนาระบบข้อมูลสาธารณะระดับประเทศ (Country-level Open Data) กรณีศึกษา : สาธารณรัฐอินเดีย การพัฒนาระบบข้อมูลสาธารณะระดับประเทศ (Country-level Open Data) กรณีศึกษา : สาธารณรัฐเกาหลี การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (City of Chicago) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ทราบถึงความแตกต่างและมองภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น