พมส.1 รุ่นที่ 1 ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ด้านภัยพิบัติ และสุขภาพกับเทศบาลที่ได้รับทุน
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ด้านภัยพิบัติ และสุขภาพ กับเทศบาลที่ได้รับทุน
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธสิ่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 จัดประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ กับเทศบาลที่ได้รับทุน ด้านภัยพิบัติ และสุขภาพ ในวันที่ 10 เมษายน 2566 ผ่านระบบ ZOOM MEETING โดยมีคณะทำงานฯ จากหน่วย บพท. มูลนิธิส่งเสริมการปกครองอท้องถิ่น และบริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่หารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ร่วมกับนักวิจัยในโครงการฯ รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ก่อนการลงมือปฏิบัติการวิจัย
สาระโดยสังเขปของการหารือกับ เทศบาลตำบลแม่จัน จังหวัดเชียงราย และ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี คือ ผศ.ดร.ฌาณ เรืองธรรมสิงห์ ในฐานะที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พูดถึงการดำเนินงานด้านโครงการวิจัยด้วย โดยกล่าวว่า “ในการประชุมหารือครั้งนี้ ถือเป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการทำโครงการวิจัยฯ และถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมทางหลักสูตร พมส. ถือเป็นโครงการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมือง เป็นการเก็บข้อมูลในการประยุกต์ใช้ เพื่อตอบคำถามบางอย่างในเชิงอธิบาย และพากันไปค้นหาความจริงของทฤษฎีนั้น ซึ่งงานวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นวิจัยในเชิงการทำงาน พร้อมด้วยการลงมือ โดยเราคาดหวังร่วมกันว่า เราจะได้รับระบบฐานข้อมูลเมือง บุคลากรเกิดการพัฒนา รวมถึงของดี ที่เด่น คนดัง โดยนำมาต่อยอดการทำวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีระยะเวลาในการทำวิจัยโครงการฯชิ้นนี้ คาดว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนเราจะเห็นภาพความสำเร็จพร้อมกัน และงานวิจัยชิ้นนี้ผู้มีส่วนร่วมคาดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของเทศบาลในแต่ละพื้นที่ได้”
ยิ่งไปกว่านั้นด้าน บริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) ถือเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในการดำเนินโครงการวิจัยฯ ครั้งนี้ได้มีการเสนอการนำเทคโนโลยี เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของแต่ละพื้นที่ โดยมีการวางกรอบระยะเวลาดำเนินการร่วมกับภาคีไว้อย่างชัดเจน โดยปลายทางที่แต่ละพื้นที่จะได้รับคือ แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เพื่อการจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ถือว่าเป็นข้อมูลระบบที่เราต่างสร้างร่วมกัน และจะช่วยจัดการความเสี่ยง และเข้าถึงการบริการประชาชนในอนาคตได้เป็นอย่างดี
จากนั้นด้านของ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ บพท. ได้กล่าวว่า “การเริ่มต้นการทำวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยถือว่าผู้นำในการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้วิจัย เปลี่ยนแปลงการวิจัยจากบนหิ้ง ลงมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ มีเป้าประสงค์ที่จะบรรลุร่วมกันคือ สร้างการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยข้อมูลความรู้ เกิดโอกาสในการพัฒนาเมือง เชื่อมโยงการศึกษา และจะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปได้”
และปิดท้ายด้วย นายกเทศบาลตำบลแม่จัน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า คาดหวังเช่นกันว่าฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะเกิดการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นตอนนี้ที่เกิดปัญหาที่เผชิญร่วมกันคือ ปัญหา PM 2.5 ปัญหานี้ในอนาคตอาจจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม ด้านนายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่าภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนคาดหวังว่าการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการองค์กร พัฒนาบุคลกร จะสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน จะยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ยกระดับการบริหารจัดการปัญหาที่ทันสมัย รวดเร็ว ด้วยข้อมูลความรู้ และเกิดโอกาสในการพัฒนาเมืองในอนาคต รวมถึงต่อยอดเป็นพื้นที่ต้นแบบให้พื้นที่อื่นต่อไป