พมส.ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ กับ 19 เทศบาลที่ได้รับทุนด้านระบบสุขภาพอัจฉริยะ
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ กับ 19 เทศบาลที่ได้รับทุน ด้านระบบสุขภาพอัจฉริยะ ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ กับเทศบาลที่ได้รับทุน ด้านสุขภาพอัจฉริยะ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผ่านระบบ ZOOM MEETING โดยมีคณะทำงานฯ จากหน่วย บพท. มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่หารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ร่วมกับนักวิจัยในโครงการฯ รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผลลัพธ์แฟลตฟอร์มด้านระบบสุขภาพอัจฉริยะ และ Dashboard ที่ทางเทศบาลจะได้รับหลังจากที่ส่งข้อมูลให้กับบริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) ครบถ้วนตามบริบทของทางเทศบาลแล้ว พร้อมกับซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ๆ
สาระโดยสังเขปของการหารือนี้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) ได้พูดถึง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการมีข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งที่ข้อมูลที่ทางเทศบาลมีอยู่แล้ว และข้อมูลที่ต้องทำการจัดหาเพิ่มเติม เพื่อส่งข้อมูลให้กับบริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) ซึ่งข้อมูลถือได้ว่าเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญ และนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อได้ผลลัพธ์คือ แฟลตฟอร์มระบบสุขภาพอัจฉริยะ และมีเครือข่ายเชิงวิชาการที่จะร่วมเรียนรู้ และให้การสนับสนุนทางเทศบาลอย่างเต็มที่
โดยที่ประชุมยังได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเครือข่ายด้านเทคโนโลยี เครื่องมือดิจิตอล อย่าง บริษัท ARV ร่วมชี้แจงถึง ผลลัพธ์ของแฟลตฟอร์ม และ Dashboard ที่ทางเทศบาลจะได้รับ ว่าถ้าจะบริหารได้ จะต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง และกระบวนการนำเข้าข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วนของข้อมูลที่ทางเทศบาลมีแล้วและในส่วนข้อมูลที่ไม่มีจะต้องทำอย่างไรต่อบ้าง และปิดท้ายด้วยการรับฟังการสะท้อนปัญหาเพื่อร่วมกันหาทางออก
สำหรับการประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ เทศบาลที่ได้รับทุน ด้านด้านระบบสุขภาพอัจฉริยะนี้ ถือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเป้าหมาย และสะท้อนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงผลลัพธ์ในกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุให้สำเร็จผ่านการพัฒนา platform เมือง และบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในด้าน digital ระเบียบวิธีวิจัย รวมไปถึงสร้างโอกาสในการเกื้อกูลกันในเครือมหาวิทยาลัย รวมถึงภาคีเครือข่ายอื่น