ทีมที่ปรึกษานักวิจัย พมส.1 ลงพท.ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย โซนภาคใต้
ทีมที่ปรึกษานักวิจัยหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) ลงพื้นที่ภาคใต้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย เทศบาลเมืองปัตตานี และเทศบาลนครยะลา เพื่อประชุมหารือพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่สามารถพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัลร่วมกัน
“การจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform) ของเทศบาล” คือ การนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดำเนินงานของเทศบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนทุก ๆ เทศบาล ให้สามารถเดินไปพร้อมกัน ในลักษณะการ “ชวนมาทำ ชวนมาพัฒนา และเรียนรู้ไปด้วยกัน” ด้วยความเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนทุกองคาพยพ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นที่มีพลังได้
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) พร้อมด้วย นักวิจัยในโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ นำโดย ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคุณทองเล็ก ปาตังกะโร เลขานุการมูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย เทศบาลเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และเทศบาลนครยะลา จ.ยะลาเพื่อหารือการดำเนินโครงการย่อย และติดตามความก้าวหน้างานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ร่วมกับนักวิจัย รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เตรียมความพร้อมคนทำงาน เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจตอบประเด็นซักถาม แต่ทว่ายังได้หารือในประเด็นต่าง ๆ จากการลงมือปฏิบัติการวิจัยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองด้วย
สำหรับสาระโดยสังเขปของการหารือกับ เทศบาลเมืองปัตตานี นั้นคือการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัย ซิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมืองสามารถวางแผนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ภายใต้การจัดสรรงบจากโครงการวิจัยฯที่มีเป้าหมายหลัก คือเพื่อพัฒนาให้เมืองให้สามารถวางแผนและบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืนโดยใช้ข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือ
ด้านเทศบาลนครยะลานั้น ได้มีการรายงานความก้าวหน้าแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้บริหารจัดการเมือง โดยในระหว่างอยู่ในช่วงการส่งมอบข้อมูล เพื่อออกแบบและปรับแต่งแดชบอร์ดข้อมูลเมืองด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทศบาลนครยะลา
อนึ่ง “การยกระดับเทศบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นเรื่องใหม่ สร้างความกังวลในการแปรข้อมูลจากกระดาษเป็นดิจิทัล แต่ หลักสูตร พมส. เน้นความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานข้อมูล โดยแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมานั้น จะมีการกำหนดผู้ที่มีอำนาจในการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูล และจะไม่มีการส่งข้อมูลให้แก่บุคคลที่สามโดยเด็ดขาด ซึ่งนี่คือจุดแข็งของความร่วมมือในครั้งนี้”