ทีมที่ปรึกษานักวิจัยหลักสูตร พมส.1 ลงพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย ทต.ท่าม่วง ทต.พระแท่น ทต.ท่ายาง ทต.ศรีดอนไผ่ ทม.กระทุ่มแบน และ ทต.นาดี หวังพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองร่วมกัน
ทีมที่ปรึกษานักวิจัยหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) ลงพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย เทศบาลตำบลท่าม่วง เทศบาลตำบลพระแท่น จังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลตำบลท่ายาง เทศบาลตำบลศรีดอนไผ่ จังหวัดราชบุรี เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน และ เทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อประชุมหารือพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่สามารถพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัลร่วมกัน
“การจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform) ของเทศบาล” คือ การนำข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดำเนินงานของเทศบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนทุก ๆ เทศบาล ให้สามารถเดินไปพร้อมกัน ในลักษณะการ “ชวนมาทำ ชวนมาพัฒนา และเรียนรู้ไปด้วยกัน” ด้วยความเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนทุกองคาพยพ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นที่มีพลังได้
ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2566 นักวิจัยในโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ นำโดย ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคุณทองเล็ก ปาตังกะโร เลขานุการมูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัย เทศบาลตำบลท่าม่วง เทศบาลตำบลพระแท่น จังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลตำบลท่ายาง เทศบาลตำบลศรีดอนไผ่ จังหวัดราชบุรี เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน และ เทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือการดำเนินโครงการย่อย และติดตามความก้าวหน้างานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ร่วมกับนักวิจัย รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เตรียมความพร้อมคนทำงาน เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจตอบประเด็นซักถาม แต่ทว่ายังได้หารือในประเด็นต่าง ๆ จากการลงมือปฏิบัติการวิจัยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองด้วย
โดย ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “รูปแบบการสนับสนุนงบประมาณทุนวิจัย และนวัตกรรมการปฏิบัติการพัฒนาเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการคือ การฝึกอบรมในหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) และปริมาณการทำงานให้เกิดสัมฤทธิ์ผล ด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักวิจัยเห็นภาพสำคัญร่วมกัน คือการมีส่วนร่วมที่จะทำให้องค์กรมีการพลิกโฉมองค์กร ให้เป็นองค์ดิจิทัล โดยการสนับสนุนให้ข้อมูล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม และนำมาสู่การยกระดับการพัฒนาด้วยชุดความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ทีมที่ปรึกษานักวิจัยหลักสูตร พมส.1 ยังทำงานใกล้ชิดร่วมกับ นักวิจัยของเทศบาล และบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด เพื่อจะทำให้ทราบว่าเทศบาลแต่ละแห่งที่มีบริบทที่ต่างกัน จะร่วมกันใช้งาน Data catalogue แพลตฟอร์มกลางนี้ได้ตรงตามความต้องการได้อย่างไร เพราะนี่คือการทำงานในรูปแบบ Bottom-Up โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง”
สำหรับสาระโดยสังเขปของการหารือกับ เทศบาลตำบลท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นั้น นายชัยยุทธ วัฒโน นายกเทศมนตรี (ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อย) และคณะทำงาน ได้ให้เกียรติมาต้อนรับ และร่วมรับฟังการอภิปรายถึงแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง พร้อมเล่าว่าเทศบาลตำบลท่าม่วง มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform: CDDP) สำหรับจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลตำบลท่าม่วง และทางเทศบาลอยากที่จะปรับแต่งแดชบอร์ดข้อมูลเมืองด้านโครงสร้างพื้นฐานเอง เนื่องจากตอนนี้เทศบาลตำบลท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นั้นมีสถานที่สำคัญอาทิ โบสถ์คาทอลิกวัดแม่พระมหาทุกข์ ตลาดนางลอย วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง หากมีการจัดระบบข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะทำให้ “ที่เด่น” ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลได้รับการความสนใจจากภายนอกและสามรถรับการบริหารจัดการดูแลจากภายในได้อย่างดี
ด้านเทศบาลตำบลพระแท่น จังหวัดกาญจนบุรี นำโดยนายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน นายกเทศมนตรี และคณะ ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เพื่อนำเข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลตำบลพระแท่นด้วยเช่นกัน และทิ้งท้ายด้วยว่าจากการทำวิจัยครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่จะเป็นผลพลอยได้คือ เทศบาลตำบลพระแท่น จะมีการรวบรวม “ชุดข้อมูลสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน จากการรวมกลุ่มชาวบ้าน” เช่น การทำไม้กวาดจากขวาดพลาสติก การเลี้ยงไส้เดือนดิน และดนตรีพื้นบ้าน อนึ่ง ภายหลังจากที่ได้รับฟังแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองแล้ว นายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน กล่าวว่า ทางเทศบาลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้การทำงานบนฐานการวิจัย Doing to learn. ลงมือทำเพื่อที่จะเรียนรู้ เพื่อพัฒนาเทศบาล รวมถึงบุคลากรในเทศบาล
สำหรับวันที่สอง (วันที่ 13 กรกฎาคม 2566) ของการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานวิจัย คือพื้นที่เทศบาลตำบลท่ายาง จังหวัดราชบุรี ซึ่งทางเทศบาลมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลกลางในด้านข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน โดยในวันดังกล่าวนั้น นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง และบุคลากร ได้ให้เกียรติมาต้อนรับที่ปรึกษานักวิจัย และร่วมอภิปรายแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง พร้อมขอคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษา ถึงการพัฒนาต่อยอด “ของดี” ของเทศบาลตำบลท่ายาง อย่าง สินค้า OTOP อาทิ ข้าวเกรียบชะอม กล้วยหอมทอง ปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์มะนาวแปรรูป ในงานวิจัยอย่างไรด้วย
ต่อเนื่องพื้นที่ที่สองในจังหวัดราชบุรี คือเทศบาลตำบลศรีดอนไผ่นั้น อันมีสาระโดยสังเขปของการหารือ คือเทศบาลตำบลศรีดอนไผ่ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาล และทางเทศบาลตำบลศรีดอนไผ่ ยังเล่าถึงสถานที่สำคัญที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง อาทิ วัดปราสาทสิทธิดาราม วัดหลักหกรัตนาราม วัดอุบลวรรณาราม ศาลเจ้าซำป้อซี่ และคลองดำเนินสะดวก หากมีการนำ “ที่เด่น” ดังกล่าวมาจัดเก็บในแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองด้วย ตน นายปัญญา สุรสิงห์ไกรสร นายกเทศมนตรีตำบลศรีดอนไผ่ และบุคลากรของเทศบาล ต่างพร้อมที่จะเก็บข้อมูล สนับสนุนการรวบรวมและจัดเก็บ พร้อมเรียนรู้ไปกับทีมที่ปรึกษา
วันสุดท้ายของการลงพื้นที่ภาคตะวันตก (วันที่ 14 กรกฎาคม 2566) ทีมที่ปรึกษานักวิจัย ได้เข้าพบ นายนิวัฒน์ ขวัญบุญ นายกเทศมนตรีเมืองกระทุ่มแบน และบุคลากรเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง เพื่อจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะของเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน พร้อมกันนี้ทางเทศบาลยังได้มีการพาลงพื้นที่ ชิมของดี อย่าง บ๊ะจ่างเจ๊เง็ก รวมถึงเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ อย่างวัดดอนไก่ดี ศาลหลวงตาทอง ศาลเจ้าตาแป๊ะกง ด้วย โดยนายกเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน ได้กล่าวว่าทางเทศบาลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้การทำงานบนฐานการวิจัย เพื่อพัฒนาเทศบาล รวมถึงคุณภาพชีวิตบุคลากร และประชาชน เพื่อทำให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพอย่างแท้จริง
ปิดท้ายการหารือกับนักวิจัยเทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีเป้าหมายงานวิจัย คือพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะของเทศบาลตำบลนาดี โดยมีระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพและสวัสดิการของประชาชนในพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงการบริการเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน พร้อมกันนี้ในการการพูดคุยทางเทศบาลได้มีการนำผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่น คือ เครื่องหนัง กระเป๋าหนัง เบญจรงค์ และติ่มซำ ขึ้นชื่อมานำเสนอด้วย ภายหลังการหารือ นายสุมิตร แผนทัด นายกเทศมนตรีตำบลนาดี กล่าวว่าการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่ทั่วถึงได้นั้น ทุกคนก็จะมีความเสมอภาค พร้อมขอบคุณการสนับสนุนงบประมาณทุนวิจัย และนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อปฏิบัติการพัฒนาเทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร
ด้าน ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ยังได้กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ทีมที่ปรึกษาและ คณะทำงานเข้าใจดีว่า “การยกระดับเทศบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นเรื่องใหม่ บุคลากรหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นชิน และอาจมีความกังวลในการแปรข้อมูลจากกระดาษเป็นดิจิทัล แต่ หลักสูตร พมส. เน้นความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานข้อมูล โดยแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมานั้น จะมีการกำหนดผู้ที่มีอำนาจในการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูล และจะไม่มีการส่งข้อมูลให้แก่บุคคลที่สามโดยเด็ดขาด ซึ่งนี่คือจุดแข็งของความร่วมมือในครั้งนี้”
เทศบาลตำบลท่าม่วง
เทศบาลตำบลพระแท่น
เทศบาลตำบลท่ายาง
เทศบาลตำบลศรีดอนไผ่
เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน
เทศบาลตำบลนาดี