พมส.เข้าพบนักวิจัย ทต.แม่จัน ทต.นางแล และทต.เวียงเทิง เพื่อพลิกโฉมจังหวัดเชียงราย ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง
หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) เข้าพบนักวิจัยเทศบาลตำบลแม่จัน เทศบาลตำบลนางแล และเทศบาลตำบลเวียงเทิง เพื่อพลิกโฉมจังหวัดเชียงราย ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง
วันที่ 6-7 มิถุนายน 2566 คณะทำงานหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ในโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ นำโดย ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวทองเล็ก ปาตังกะโร เลขานุการมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.มณิษวาส จินตพิทักษ์ รองหัวหน้าสำนักวิชาการศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายภัทรพล ขวัญสุด นักวิจัย ได้เข้าพบผู้บริหารและบุคลากรเทศบาลตำบลแม่จัน เทศบาลตำบลนางแล และเทศบาลตำบลเวียงเทิง จังหวัดเชียงราย (ผู้บริหารและบุคลากรเทศบาลในฐานะนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ด้วยกลไกความร่วมมือ เทคโนโลยี ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ Platform Digital) โดยวัตถุประสงค์ในการหารือครั้งนี้ คือเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการวิจัยการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกระบวนการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมคนทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ก่อนการลงมือปฏิบัติการวิจัยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ยิ่งไปกว่านั้นยังถือเป็นการเรียนรู้บริบทพื้นที่ด้วย
สำหรับเทศบาลตำบลแม่จัน จ.เชียงราย มีเป้าการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองไปที่การจัดการภัยพิบัติ เนื่องจากสถานกาณ์การจัดการน้ำท่วมในปัจจุบัน เทศบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริการจัดการน้ำไม่ให้ท่วมเมืองแม่จัน เนื่องจากสภาพลักษณะภูมิประเทศของเทศบาลตำบลแม่จัน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา โดยมีแม่น้ำจันซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของอำเภอแม่จัน ไหลเข้าสู่ตัวเทศบาลตำบลทางทิศตะวันตก แล้วไหลวิ่งขึ้นทิศเหนือขนาบเทศบาลฝั่งทิศตะวันตก และไหลออกจากเทศบาลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่แม่น้ำโขง จากปรากฏการณ์ข้างต้น จึงนำมาสู่ความสนใจที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการจัดการภัยพิบัติ
ต่อเนื่องที่เทศบาลตำบลนางแล จ.เชียงราย ซึ่งมีความต้องการที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะของเทศบาลตำบลนางแล เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนตำบลนางแลอยู่แล้ว โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสองหน่วยงาน ได้แก่ อสม.ตำบลนางแล และ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนางแล แต่ทว่าข้อมูลที่มีนั้น เป็นข้อมูลสองชุด ที่มีข้อมูลไม่ตรงกัน มีความ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม และไม่เป็นปัจจุบัน และจากปัญหาดังกล่าวทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้สำหรับการวางแผน ส่งเสริม และป้องกันโรค ให้แก่ประชาชนตำบลนางแลได้ ทำให้การช่วยเหลือประชาชนด้านสุขภาพไม่ทั่วถึง ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่พบปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ในภาวะต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขาดผู้ดูแล ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่บ้านเพียงลำพัง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือร้องขอความช่วยเหลือได้ เทศบาลตำบลนางแลจึงต้องการระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัย ครอบคลุม เพื่อการวางแผน และแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้ประชาชนที่ตรงประเด็น ในลักษณะแพลตฟอร์มที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน มีข้อมูลเป็นรายบุคคล แยกกลุ่มหมวดหมู่ประชาชน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีปัญหาซ้ำซ้อน ประมวลผลข้อมูล จัดเก็บรายการรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษา การนัดหมาย กำหนดการตรวจเยี่ยมตามระยะเวลา แผนที่ พิกัดที่อยู่ผู้ป่วยในภาวะต่าง ๆ ตลอดจนถึงมีระบบการติดตามแจ้งเตือนในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรังที่มีปัญหา ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น มีการติดอุปกรณ์ที่บ้านผู้ป่วยสามารถแจ้งเตือนหากเกิดปัญหา หรือมีการผิดปกติเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากวิสัยปกติ และอุปกรณ์ติดตัวผู้ป่วยเพื่อตรวจเช็คการเต้นของหัวใจ ความดัน ท่าทางที่ผิดปกติ เมื่อมีปัญหาจะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ช่วยเหลือระดับหมู่บ้าน และส่วนกลาง ซึ่งมีอาสาสมัคร เยาวชน ที่ประจำศูนย์รับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง
ปิดท้ายที่เทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย ที่เน้นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ปรับไปสู่รูปแบบเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกื้อกูลกับระบบนิเวศมากขึ้น จึงมีเป้าการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองไปที่การจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เพราะผลลัพธ์จากงานวิจัยนี้ นักวิจัยจะได้แพลตฟอร์มกลางที่สามารถพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล และจะเป็นอีกส่วนที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาเทศบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเกษตรธรรมชาติ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกษตรกรมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการมากขึ้น อนึ่ง เพื่อพลิกโฉมจังหวัดเชียงราย ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) และ บริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) ต่างร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับเทศบาล เนื่องจากเทศบาลแต่ละแห่งมีบริบทที่ต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นในแพลตฟอร์มกลางนี้ทางเทศบาลสามารถปรับเปลี่ยนหน้าตาของระบบ หรือองค์ประกอบได้ตามความต้องการ หรือสามารถส่งความต้องการการปรับปรุงแฟลตฟอร์มไปยังทาง AI & Robotics Ventures (ARV) โดยตรง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการในทันที และในอนาคตแฟลตฟอร์มนี้ ภายใต้ บพท.จะมีส่วนในการพัฒนาและพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล และจะเป็นอีกส่วนที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้
เทศบาลตำบลแม่จัน
เทศบาลตำบลนางแล
เทศบาลตำบลเวียงเทิง