เทศบาลตำบลแวงน้อย จ.ขอนแก่น และโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นฯ ร่วมประชุมวิเคราะห์ศักยภาพความพร้อม ก่อนลงนามในสัญญาพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล
เทศบาลตำบลแวงน้อย จ.ขอนแก่น และโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ โดย มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมประชุมวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และศักยภาพความพร้อม ก่อนลงนามในสัญญาพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล
วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ผลจากการร่วมหารือวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และศักยภาพความพร้อมของเทศบาลตำบลแวงน้อย จ.ขอนแก่น ระหว่าง 3 หน่วยงาน อันประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดย รศ. ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) บพท. เทศบาลตำบลแวงน้อย จ.ขอนแก่น โดย นายไพฑูรย์ กิตติปัญจมาศ นายกเทศมนตรีตำบลแวงน้อย และโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ โดย ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมทำข้อตกลง ลงนามในสัญญา MOU ว่าด้วยการส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ด้วยกลไกความร่วมมือ เทคโนโลยี ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ Platform Digital เพื่อยกระดับยกระดับเมืองและท้องถิ่นไทยให้เป็นเมืองชาญฉลาดที่น่าอยู่ พร้อมพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง
การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 หน่วยงาน อย่างเป็นทางการ ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน มีวิสัยทัศน์และจุดร่วมที่ตรงกัน คือ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานสนับสนุนส่งเสริมการขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง โดยใช้กลไกการบริหารจัดการการพัฒนาของท้องถิ่น ที่จะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้นี้เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เปลี่ยนบทบาท ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ของภาคส่วนต่าง ๆ ใหม่ ให้สามารถประสานความร่วมมืออย่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันได้ ในการยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการแบบร่วมไม้ร่วมมือ (Collaborative Governance) ของกลไกการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทพัฒนาเมืองทั่วประเทศไทยให้มีศักยภาพที่จะสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากโครงการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ไปขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
สำหรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเทศบาลตำบลแวงน้อย จ.ขอนแก่น และโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ โดย มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ โดยภาคีเครือข่าย ทั้ง 2 หน่วยงาน ต่างมีความยินดีที่จะร่วมกันสร้างกลไกใหม่เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge and Technology Transfer) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายฯ ตลอดจนกลไกความร่วมมือและกลไกการใช้ข้อมูลความรู้เชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จของการพัฒนาเชิงพื้นที่ การประกบกันของ ภาคความรู้ เช่น มหาวิทยาลัย สมาคมการผังเมืองไทย กับภาคขับเคลื่อน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทพัฒนาเมือง ภาคประชาคมเมือง จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนที่มีศักยภาพ และร่วมกันสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียสำคัญทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและภาควิชาการ เสริมสร้างด้วยกระบวนการความร่วมมือทางสังคม social collaboration โดยการสร้างพื้นที่เรียนรู้ของชุมชน ในการร่วมคิดร่วมทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสำคัญ หนุนเสริมศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดผลกระทบทางบวกทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้บริหารโครงการฯ ได้กล่าวขอบคุณทั้ง 2 หน่วยงาน และเชื่อมั่นในพลังทวีคูณที่เกิดขึ้น จากการประสานความร่วมมือกัน บนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันมีใจความโดยสังเขปดังนี้ “ท้องถิ่น คือคำตอบ ที่ต้องได้รับการพัฒนารากฐานให้เข้มแข็ง พร้อมกับมีการให้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมยกตัวอย่าง นักวิจัย ที่จ.สกลนคร “หมอสมบูรณ์” ในการสร้างป่าเสร็จกิจครอบครัว และปิดท้ายด้วยว่า บพท. พร้อมสนับสนุนเทศบาลให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชาวบ้าน ให้มีกินมีใช้ โดยใช้อข้อมูลเป็นการนำทาง สิ่งสำคัญคือ นายกและบุคลากรของ ทต.แวงน้อย ต้องมีส่วนรวมถึงจะสำเร็จ เอาจุดแข็งมามองหาโอกาสถึงจะฮึกเหิม”
นายไพฑูรย์ กิตติปัญจมาศ นายกเทศมนตรีตำบลแวงน้อย กล่าวต่อว่า ตอนนี้ความรู้เท่ากัน วันนี้มาเรียนรู้ ๆ ไปพร้อมกันกับสมาชิกเทศบาล เป็นเพราะตน ลูกศิษย์ รปม. รุ่นที่ 5 ท่านอาจารย์ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ๆ มีสิ่งดี ๆ ให้เสมอ และยังเชิญชวนมาร่วมทำงานเพื่อร่วมกันยกระดับการทำงาน เพราะท่านอาจารย์ ทำงานในระดับประเทศ ตนจึงรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่เทศบาลที่ตนดูแลได้รับการถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่
สำหรับ เทศบาลตำบลแวงน้อย นั้น มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มจักรสาน กลุ่มปลูกเห็ด แต่ว่าก็ไม่ยั่งยืน แต่กลุ่มปลูกผักปลอดสารนั้นมีความยั่งยืนกว่าทุกกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีของดีคือ มีต้นแวง ที่เป็นที่มาของชื่อ อำเภอแวงน้อย และหากจะถึง สิ่งที่ ทต.แวงน้อย อยากจะทำนั้น คือพาเด็กทำกิจกรรม Street Art ส่งเสริมโครงการเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเพิ่มคุณค่า มีระบบ E-office การร้องทุกข์ และสามารถสืบค้นข้อมูลอื่น ๆได้ มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เป็นโอกาสแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประกอบด้วย ศาลเจ้าพ่อหมื่นศรี ศาลาร้อยปี พัฒนาสวนสาธารณะหนองห้วยหาดให้เป็นแลนด์มาร์ค และอยากทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านด้วย พร้อมปิดท้ายถึงของดี ทต.แวงน้อย ว่ามีธนาคารขยะ คัดแยกขยะ ซึ่งพอครบเดือนก็จะนำมาขาย และทำฌาปนกิจให้ มีสิมบ้านแวง ที่อายุเกิน 100 ปี และตอนนี้กรมศิลปากรกำลังบูรณะ มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ อายุ 2,500 ปี มีการปลูกผักปลอดสารพิษไม่ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง ในพื้นที่ 4 ไร่ มีสมาชิก 150 คน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและสตรี โดยในช่วงเทศกาล งานต่าง ๆ จะมีผู้ซื้อมาจองฝากจากแปลง และโรงพยาบาลก็มีการนำผักไปวางขาย และนำไปวางขายที่ตลาดสด ด้วย
ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้กล่าวปิดท้ายการลงนาม MOU ของทั้ง 2 หน่วยงาน ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากกลุ่มเครือข่าย และเกิดการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ โดยมีแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ และมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดเพื่อให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวีตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน