หลักสูตร พมส.2 ลงพื้นที่เมืองสี่แคว จัด Workshop ร่วมพันธมิตร ปลุกปั้นนครสวรรค์สู่เมืองอัจฉริยะต้นแบบ

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่น 2 ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเสนอโครงงานในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ  พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรนักวิจัยเข้าร่วม ปั้นนครสวรรค์สู่ “เมืองอัจฉริยะต้นแบบ”

วันที่ 26 เมษายน 2566 ภาคีเครือข่ายหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่น 2 เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมกัน ณ ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา
จ.นครสวรรค์  โดยเป้าหมายของการจัดอบรมในครั้งนี้คือ การพัฒนาข้อเสนอโครงงานวิจัยด้านการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองในการพัฒนาเทสบาล  โดยในงานนี้ ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเปิดการอบรมด้วยการทบทวนเป้าหมายการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมืองและการพัฒนาโจทย์วิจัยว่า จังหวัดนครสวรรค์มีศักยภาพในการเป็นเมืองอัจฉริยะได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้งานข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม  การนำองค์ความรู้และกระบวนการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาเมือง จะช่วยให้เกิดการรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยเหตุนี้ หลักสูตร พมส. จึงมีหน้าที่ในการพานักพัฒนาเมืองทุกท่านเรียนรู้กระบวนการวิจัยร่วมไปกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ได้เป็นอย่างดี

          สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ ทางหลักสูตรยังได้รับเกียรติจากการศาสตราจารย์ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมาบรรยายในหัวข้อ “ภาวะผู้นำกับการพัฒนาเมือง” โดยนายแพทย์กระแสได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญว่า

          “ภาวะผู้นำที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่ลักษณะของคนเท่านั้น แต่ผู้นำที่แท้จริงนั้นจะยืนอยู่บนกระแสของการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ตลอดเวลา และหากผู้นำตามการแปลงเปลี่ยนไม่ทัน นั่นย่อมไม่สามารถรักษาเสถียรภาพขององค์กรหรือสังคมได้  สำหรับวันนี้ เรื่องที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องของเมือง และความเป็นเมืองก็ประกอบด้วยความเปลี่ยนแปลง  ดังนั้น เราจะเห็นความเชื่อมโยงว่า เมืองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีความเป็นผู้นำในตัวเอง” ซึ่งในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้นำควรมีมากที่สุดคือ “องค์ความรู้” ดังนั้นความเป็นผู้นำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนด้วยการหมั่นฝึกฝน เข้าอบรมเสวนา หรือแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ให้ทันยุคสมัย  แม้บริบทที่เราอยู่จะเป็นการบริหารท้องถิ่น ไม่ใช่แวดวงธุรกิจ แต่ท้องถิ่นจะชนะหรือแพ้ ก็อยู่ที่การเข้าถึงความรู้ที่ทันสมัยเช่นกัน 

          โดยตอนท้าย นายแพทย์กระแสได้ให้กำลังใจผู้เข้าอบรมทุกท่านว่า เมื่อแต่ละท่านได้ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดแล้ว ก็ขอให้อดทน มานะพยายาม และภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ตนทำได้สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่นแล้วจริง ๆ  โดยทิ้งท้ายด้วยบทกลอนของชาวญี่ปุ่นว่า “แม้มิได้เป็นดอกซากุระ ก็จงอย่ารังเกียจที่จะเป็นดอกไม้อื่น  แม้มิได้เป็นซามูไร ก็จงภูมิใจเป็นสมุนเขา” เป็นการปิดท้ายการบรรยายที่ทรงคุณค่า และทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนประทับใจ

          สำหรับช่วงบ่าย นายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ Entrepreneur in Residence จากบริษัท ARV ได้ให้การบรรยายในหัวข้อ “ร่วมอยู่ ร่วมสร้าง ร่วมเจริญ พันธกิจใหม่เอกชนไทย” ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด ในฐานะบริษัทลูกของ ARV และ SCG ที่ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลหลายแพลตฟอร์มที่ช่วยตอบสนองการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับเมือง  โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีส่วนช่วยในการบริหารท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านชี้ให้เห็นมาโดยตลอด  ในวันหนึ่ง ประเทศไทยเองก็ต้องยกระดับเทศบาลสู่ระบบดิจิทัลเช่นกัน คงไม่สามารถใช้ระบบเก็บข้อมูลด้วยกระดาษ หรือการยื่นข้อร้องเรียนต่อเทศบาลด้วยการกรอกแบบฟอร์มไปได้ตลอด  แต่ปัญหาสำคัญคือ ประเทศไทยยังคงขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งหากจะสร้างสิ่งนี้ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล  ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่เทศบาลทำได้ คือการจับมือกับภาคเอกชนที่มีทรัพยากรอยู่แล้ว เพื่อนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้ดีขึ้น 

          “การเปลี่ยนจากเมืองทั่วไปเป็น Smart City ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ มีศักยภาพในการก้าวไกลเป็นเมืองอัจฉริยะได้เพราะเทศบาลแต่ละแห่งมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับ ซึ่งปัจจัยการยกระดับเทศบาลนั้นประกอบด้วยกลยุทธ์ทางดิจิทัล โครงสร้าง การพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี ข้อมูล และกระบวนการประเมินและวัดผลที่มีประสิทธิภาพ  โดยทั้งหมดต้องทำไปพร้อม ๆ กันทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ  ซึ่ง พมส. บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด  ยินดีพาทุกท่านเรียนรู้ผ่าน Showcase ของเทศบาลที่ประสบความสำเร็จแล้ว และยังช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการบริหารจัดการระบบดิจิทัลระยะยาวด้วย”

          ในช่วงท้ายของการอบรมวันนี้ ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ได้นำเสนอต้นแบบการจัดทำข้อเสนอโครงการที่ได้จาก พมส.รุ่น 1 สำหรับเป็นตัวอย่างให้เทศบาล ตั้งแต่การเขียนหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ กรอบการวิจัย และการตั้งเป้าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น  โดยมีทีมนักวิจัยและเจ้าหน้าที่จาก ARV ที่จะมาช่วยพาทุกท่านเขียนโครงการไปด้วยกัน  ซึ่งแต่ละเทศบาลจะมีโอกาสนำเสนอโครงร่างพร้อมกันในวันที่ 27 เมษายน  ซึ่งก่อนจะเริ่มแบ่งกลุ่มระดมสมองเขียนโครงร่างวิจัยนั้น ดร.จักรพันธ์ จุลละโพธิ Product Owner จากบริษัท ARV ได้แนะนำแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองที่เป็นต้นแบบและจะนำมาใช้ในโครงงานวิจัยโดยคร่าว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเห็นภาพและสามารถออกแบบแผนการจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองได้ โดยข้อดีของแพลตฟอร์มนี้คือ การกรอกข้อมูลจะแสดงผลเป็น Real-time ทำให้เจ้าหน้าที่เทศบาลสามารถติดตามหรือตรวจสอบผลลัพธ์ได้ทันที ไม่ต้องไปรื้อค้นเอกสาร แต่สิ่งสำคัญคือ เทศบาลต้องวางแผนก่อนว่ามีข้อมูลอะไรในมือ จะแปลงส่วนไหนเข้าสู่ระบบดิจิทัลได้บ้าง  เมื่อทราบข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ก็จะสามารถกำหนดหัวข้อได้ง่ายขึ้น

          ในส่วนของวันที่ 27 เมษายน 2566 หลักสูตร พมส. รุ่น 2 มีกิจกรรมหลักคือการนำเสนอโครงร่างวิจัยที่แต่ละเทศบาลได้ระดมสมองและร่วมออกแบบ โดยก่อนการนำเสนอ หลักสูตรฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ให้การบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบเมืองอัจฉริยะ โดยถ่ายทอดประสบการณ์จากที่ได้ไปเยือนเมืองอัจฉริยะระดับโลกเช่นประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และชวนให้หันกลับมามองประเทศไทยว่าจะพัฒนาได้อย่างไร  โดย ดร.นนท์ กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะที่แท้จริงต้องตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยให้ได้ ไม่ใช่คิดอยากให้เป็นเมืองแบบนั้นแบบนี้ตามผู้นำ ไม่คิดเอาเอง ต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่จริงในการวิเคราะห์เพื่อออกแบบ  ซึ่งในฐานะเทศบาลที่เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดนั้น ควรคำนึงถึง 3 สิ่งด้วยกัน คือ

  1. การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดเกินไป
  2. หาพาร์ทเนอร์ที่รู้จักเทคโนโลยีดีกว่าเรา เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมือง
  3. ลดความเชื่อ ใช้ข้อมูลนำทาง ตัดสินใจผ่านข้อมูลที่สะท้อนความจริง

          จากนั้น นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้บรรยายถึงอนาคตของเมืองนครสวรรค์ในฐานะ Smart City ต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยว่า “ขั้นตอนแรกในการสร้างเมืองอัจฉริยะคือการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าเราต้องการบรรลุอะไร  ซึ่งเทศบาลนครสวรรค์ได้ร่วมกันหาจุดแข็งและจุดอ่อนของเมืองมาโดยตลอด  เช่นเดียวกับที่คุณจักรพันธ์จาก ARV กล่าวไปเมื่อวาน เมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ ซึ่งเชื่อมโยงพลเมือง ธุรกิจ และนโยบายท้องถิ่นให้ทั่วถึง ทั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ที่รวบรวมข้อมูลและให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานของเมือง  นครสวรรค์มองเห็นความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างนี้ จึงได้เข้าร่วมในหลักสูตร พมส. และนับเป็นการตัดสินใจที่มีค่า เพราะทำให้เราได้เห็นภาพกว้างของการพัฒนาเมือง ที่ไม่จดจ่ออยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป  อย่างการใช้ BCG Model มาเป็นต้นแบบพัฒนาด้านพลังงานสะอาด ก็ตอบโจทย์พื้นที่ได้ดี ทั้งในแง่ของการดำรงชีวิตของผู้คนที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมใกล้แม่น้ำ เน้นอากาศสะอาด น่าเที่ยวน่ามาเยือน ขณะเดียวกันก็สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังเมืองด้วย”

          ในช่วงท้ายของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สําเร็จการฝึกอบรมนักพัฒนาเมืองระดับสูง รุ่น 2 พร้อมถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน