ครั้งที่ 6 กับการเรียนหลักสูตร พมส.1 รุ่นที่ 2 ภายใต้จุดเน้น “เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองแห่งพลังวัฒนธรรม”

ครั้งที่ 6 กับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ของหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) รุ่นที่ 2 ภายใต้จุดเน้น “เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองแห่งพลังวัฒนธรรม” 

            ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2566 หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.1) รุ่นที่ 2 ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมือง หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง(พมส.) รุ่นที่ 2 ภายใต้จุดเน้น“มองเมืองแห่งการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะสร้างเมืองด้วยพลังแห่งวัฒนธรรม” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting โดยการอบรมวันแรก คือวันที่ 19 เมษายน 2566 เริ่มต้น โดย ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเปิดการอบรมด้วยการทบทวนเป้าหมายการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมืองและการพัฒนาโจทย์วิจัยว่า “การเปลี่ยนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ยุคดิจิทัล เป็นหลักสำคัญในการบริหารจัดการเมืองให้มีความครอบคลุม รวดเร็ว และแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะด้วยการจัดทำฐานข้อมูลเมืองเพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจวางแผน การเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิทัล หรือการกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ  รวมถึงด้านเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับ low carbon และนำมาใช้ขับเคลื่อนอาชีพในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในหลักสูตร พมส. ก็ล้วนให้ความสำคัญ เปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเหล่านี้  แต่สำหรับวันนี้ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรทุกท่านจะได้เห็นการใช้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างของเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน และน่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเมืองที่เทศบาล และอปท. หลายแห่งให้ความสนใจ เพราะทุกที่ล้วนมี “ของดี ที่เด่น คนดัง” ที่พร้อมนำเสนอและเป็นความภาคภูมิใจทั้งสิ้น”

            จากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ “จาก Local สู่เลอค่า ปลูกชุมชนให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดย คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ นักออกแบบธุรกิจอาหาร การเกษตร ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จ.บึงกาฬ และเจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก Gourmand World Awards ฝรั่งเศส 16 ปีซ้อน ที่ได้มาถ่ายทอดวิธีคิดแบบใหม่ในการเปลี่ยนโฉม อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ จากชุมชนเล็ก ๆ ที่ไร้จุดเด่นในจังหวัดขายแดนภาคอีสาน ให้กลายเป็น “หมุดหมายใหม่” ของวัฒนธรรมร่วมสมัยที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวในการจัดประชุม APEC ปี 2022  โดยคุณสุทธิพงษ์ เล่าว่า “ตนใช้แก่นของธรรมะ ผสมผสนานกับธรรมชาติ และความธรรมดา ที่ทำให้ตนเองกลับบ้านในวันที่มีแรง เพื่อนำพลังมาสร้างสรรค์ชุมชนมีชีวิต  คุณสุทธิพงษ์ใช้ประสบการณ์ด้านงาน Branding ริเริ่มกำหนด “โทนสีจังหวัด” ขึ้นมา ด้วยแนวคิดว่า หากนำโทนสีเหล่านี้มาใช้กับชีวิตประจำวัน อาคารบ้านเรือน หรือต้นไม้ดอกไม้ จะสร้างมิติที่น่าสนใจ ทำให้ชุมชนมีจุดเด่นมากขึ้น  ซึ่งโทนสีจังหวัดต่างจากสีประจำจังหวัด เพราะ “เกิดจากความคิดที่แท้จริงของทุกคน” กล่าวคือ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด คัดเลือกและกำหนดสีที่จะสื่อถึงบ้านเกิดตนได้ดีที่สุด  ผลลัพธ์ได้ออกมาเป็นสีม่วง คือสีที่ผู้คนคุ้นเคยในฐานะ 1 ใน 2 สีประจำจังหวัดบึงกาฬ ส่วนอีกสีคือสีเขียว ซึ่งเป็นสีของพญานาค อันเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ศาสนา และความศรัทธาของชาวบ้าน  

            เมื่อได้โทนสีจังหวัดแล้ว แนวคิดต่อมาของคุณสุทธิพงษ์ ก็คือ “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล” กล่าวคือ ให้โทนสีเหล่านี้ไปอยู่ในสถาปัตยกรรม สินค้า และสภาพแวดล้อมของเมือง  โดยใช้บ้านของตนเองเป็นจุดเริ่มต้น และพาชาวบ้านทำไปพร้อม ๆ กัน  นำพญานาคมาวาดเป็นกราฟฟิตี้บนกำแพง สื่อสินค้าหรือบริการของบ้านนั้น ๆ อาทิ บ้านที่มีอาชีพเป็นร้านตัดผม ก็วาดผนังเป็นพญานาคตัดผม  บ้านที่ทำเกษตรไถนา ก็วาดเป็นพญานาคขับรถไถนา หรือบ้านที่ลูกหลานชอบเล่นบันไดงู ก็ทำเป็นภาพเกมบันไดพญานาค ใช้เครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และ รด. ช่วยปรับพื้นที่บ้านของชาวบ้านให้มีความเรียบร้อย เป็นภาระหนักแต่เมื่อทำสำเร็จแล้วได้ผลสูงมาก  ส่งผลให้ อ.โซ่พิสัยเป็นแลนด์มาร์คทางศิลปะร่วมสมัย  ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาในพื้นที่  และด้วยแนวคิดแบบบูรณาการ คุณสุทธิพงษ์มองเห็นว่าเมื่อมีคนมาดูบ้านถึงที่ ชาวบ้านก็สามารถขายสินค้าและบริการได้จากบ้านตนเอง ไม่ต้องเดินทางเอาของออกไปขายในตัวเมืองใหญ่  เป็นการตอบโจทย์การพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนที่มีแต่ผู้สูงอายุและเด็กได้อย่างลงตัว ที่ไม่มีกำลังเดินทางไปขายของในเมือง สามารถขายของได้จากหน้าบ้านตนเอง  เหล่านี้ คือการใช้ศิลปะร่วมสมัยเป็น Soft power เปลี่ยนเมือง ใช้ทุนวัฒนธรรมพัฒนาพื้นที่ ซึ่งทุกเมืองล้วนทำให้เป็นจริงได้หากใช้กระบวนการข้างต้น”

            สำหรับช่วงบ่าย เป็นการนำประวัติศาสตร์เมืองมาพัฒนาเมือง โดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการ Phayao Learning city ซึ่งได้มาบรรยายในหัวข้อ “พะเยา เมืองแห่งการเรียนรู้” เพื่อถ่ายทอดการนำประวัติศาสตร์เมืองมาเป็นเครื่องมือในการสร้างเมืองน่าอยู่ สำหรับ จ.พะเยานั้น มีจุดเด่นอยู่หลายประการด้วยกันได้แก่

  1. มหาวิทยาลัยกับชุมชนมีความใกล้ชิดกันมาก ด้วยนโยบายมหาวิทยาลัยพะเยาที่จัดตั้งโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล คือ 1 คณะต้องลงพื้นที่ 1 ชุมชนแล้วสร้างผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนขึ้นมา เป็นกลยุทธ์ให้นักวิจัยลงไปทำงานกับสังคม ส่งผลให้องค์ความรู้ทางวิชาการ และองค์ความรู้ภาคชุมชนมีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนกันตลอด
  2. วัฒนธรรมซ้อนกัน 2 ชั้น จากธรณีวิทยาประวัติศาสตร์พบว่า ที่กว๊านพะเยานั้นมีเมืองที่ถูกทับซ้อนอยู่ข้างล่าง หลักฐานคือ วัดติโลกอาราม ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา มีอายุเก่าแก่มากกว่า 500 ปี เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราช แห่งราชอาณาจักรล้านนาสร้างขึ้น โดยปัจจุบันมีเมืองพะเยาตั้งอยู่รอบ ๆ กว๊าน
  3. ชาติพันธุ์ของชาวพะเยาเป็นคนพื้นถิ่นเสียมาก มีคนจากจังหวัดข้างเคียงเช่นลำปาง ลำพูนเข้ามาอาศัยอยู่บางส่วน แต่สัดส่วนวัฒนธรรมต่างถิ่น เช่น ชาวจีน หรือศาสนาคริสต์ น้อยมาก ทำให้คนพะเยามีความภูมิใจในประวัติศาสตร์เมืองสูงมาก  นอกจากนี้ยังมีการจดจารึกอยู่ทุกแห่งในเมือง เรียกว่าเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” หรือ “ดินแดนพุทธภูมิพิสุทธิ์” มานานแล้ว

            จุดแข็งด้านประวัติศาสตร์ ทำให้พะเยาต่อยอดด้านความเป็นเมืองได้ไม่ยาก แต่จากการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ชาวเมืองพะเยามีปัญหาขาดทักษะในศตวรรษที่ 21  โดย รศ.ดร.ผณินทรา และทีมวิจัยพบว่า กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ที่คน การจะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นจริงได้จึงต้องพัฒนาคนก่อน  มหาวิทยาลัยจึงร่วมมือกับเทศบาลและส่วนจังหวัด สร้างกลไกการรับรู้ปัญหา สภาพทั่วไป ประวัติศาสตร์ ของจังหวัดพะเยาให้เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงตามด้วยการสร้างหลักสูตร โดยมีการส่งเสริมโครงสร้างศูนย์การเรียนรู้ ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาได้ง่าย มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่รองรับการเรียนรู้ มีหลายแห่ง ตั้งอยู่รอบกว๊านพะเยาอันเป็นโซนหลักที่ทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด จากการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ จ.พะเยา เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับโลกที่ได้รับการรับรองโดย UNESCO ก่อเกิดคุณค่ามากกว่าที่คาดคิด คือ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้จากปากต่อปาก ข้ามรุ่นข้ามอายุ ข้ามชุมชนพื้นที่ ก่อเกิดนวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังส่งเสริมกันและกัน เช่น บ้านดินคำปู่จู้ ที่ทำบ้านดินและปั้นดิน ได้้เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยให้มีบ้านหลังแรก ด้วยการมาเรียนการสร้างบ้านดินแล้วไปสร้างเพื่ออยู่เอง บางแห่งก็เกิดหลักสูตรใหม่ ๆ โดยตัวของชาวบ้านเอง เช่น การทำผ้า eco print  หรือ การเรียนรู้จากสัตว์บริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเวียงคอ ที่ไม่เพียงแต่มีการเพิ่มประชากรละมั่ง แต่เมื่อนำสัตว์ป่ามาให้เด็ก ๆ ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้เห็น เด็กก็มีความสุขขึ้น ภาวะซึมเศร้าลดลง และก่อให้เกิดการตระหนักรู้คุณค่าของสัตว์ ส่งต่อไปยังผู้ใหญ่ เป็นจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ในอนาคต จ.พะเยา จะขยายกระบวนการนี้ไปสู่ sister city (เมืองสมาชิกของ UNESCO ทั่วโลก) และมุ่งเป้าว่าปี 67 จะจัดงาน International Knowledge Sharing Workshop ให้ผู้ที่มีประสบการณ์จากประเทศทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้ เพื่อรักษาสถานะน UNESCO Global Network of Learning City ให้ต่อเนื่อง

            ซึ่งนอกจากการบรรยายในหัวข้อ “เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองแห่งพลังวัฒนธรรม” แล้ว การจัดอบรม พมส.1 รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ยังได้รับฟังวิสัยทัศน์ผู้นำเมือง จากคุณน้อย วงศ์วิทยานันท์ นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่า จ.กำแพงเพชร ซึ่งได้มาถ่ายทอดวิสัยทัศน์ “ท้องถิ่นก้าวไกล ใส่ใจปัญหา พัฒนาระบบ” โดยเทศบาลต้องเป็นผู้นำในการรับผิดชอบการจัดการ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ดูแลระบบต่าง ๆ และส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นเมือง ปราศจากการทุจริต และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 

            สำหรับเทศบาลปางมะค่านั้น แต่เดิมมีปัญหาคือ รายได้ของแต่ละครัวเรือนน้อย ทำให้เกิดการอพยพของคนหนุ่มสาวไปทำงานนอกพื้นที่ ส่งผลให้เหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็กเล็กเป็นส่วนมากในพื้นที่ และขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตร แต่ปัญหาทั้งหมดจะดำเนินการแก้ไข โดยจะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสังคมคุณภาพชีวิต ขยายโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านการจัดอบรมส่งเสริมอาชีพหลัก การแปรรูปสินค้า การหารายได้เสริม การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและท่องเที่ยวด้วยการลดขยะ ดูแลทรัพยากร และสุดท้าย สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้  

            นายกเทศมนตรีตำบลปางมะค่าย้ำว่า แม้เหล่านี้จะเป็นการพัฒนาของทุกเทศบาล แต่ตนคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงทำได้ ทั้งฝ่ายปกครอง ทั้งเทศบาล ส.ส. ประชาชน หัวใจหลักของการนำมาซึ่งความสำเร็จ ขอย้ำว่าทำคนเดียวไม่ได้ แต่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยกัน

            ในส่วนของวิสัยทัศน์ผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม โดยคุณพริษฐ์ ไทยนิยม นั้น  กล่าวว่า ต.มหาสวัสดิ์ มุ่งเป้ายกระดับจากระดับ อบต.ไปสู่เทศบาล นับเป็นสิ่งท้าทาย แต่ตั้งเป้าที่จะทำให้ได้จริงเพราะศักยภาพ ต.มหาสวัสดิ์มีครบพร้อม โดยต้องรับฟังเสียงจากประชาชนเป็นหลัก

            จากการสอบถามประชาชน ทำให้พบว่า ประเด็นที่ประชาชน ต.มหาสวัสดิ์ ร้องขอมากที่สุดคือ การพัฒนาผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบัน ต.มหาสวัสดิ์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึง 20% และ พัฒนาการท่องเที่ยว โดยในประเด็นการพัฒนาผู้สูงอายุ ขณะนี้ทางตำบลกำลังสร้างอาคารที่จะตอบโจทย์ชุมชนหลายด้าน ด้านล่างจะเป็นร้านขายของที่ระลึกซึ่งได้จากวิสาหกิจชุมชน อีกด้านหนึ่งจะเป็นศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุ อีกส่วนหนึ่งนั้น ทางตำบลได้ประสานงานกับศูนย์รัตนาภาให้มาจัดคอร์สสอนทักษะ อาคารแห่งนี้จึงนับว่าจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจให้กับทุกคนในชุมชน  ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น ทางตำบลจะปรับภูมิทัศน์ริมคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งรวมถึงคลองที่แยกย่อยไปจากคลองหลักด้วย  หากดำเนินการเสร็จสิ้น จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยที่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ ขณะเดียวกันก็จะช่วยพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนด้วย

         ในช่วงท้ายของการอบรมวันนี้ ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้สรุปว่า Used case ทั้งหมดของวันนี้ล้วนต้นแบบการพัฒนาโครงการวิจัยที่แปลกใหม่ และอาจเป็นแรงบันดาลให้ให้กับเทศบาลใน พมส.2 ได้  หากเทศบาลใดสนใจที่จะทำ Branding จากวัฒนธรรมเมือง หรือสร้าง Learning City สามารถมาปรึกษากับนักวิจัยของ พมส.ได้ เพื่อเตรียมตัวยื่นเสนอโครงการ    

          สำหรับวันที่ 20 เมษายน 2566 เริ่มต้นด้วย นายวีรยุทธ ล้อทองพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท WINK WINK PRODUCTION ได้ให้เกียรติมาบรรยายเรื่อง ปลุกไอเดียท้องถิ่น Think ยังไงให้ Different ซึ่ง นายวีรยุทธ ล้อทองพาณิชย์ ได้อธิบายให้เห็นความสำคัญของสื่อโดยสังเขปว่า ยุคนี้ไม่ว่าจะสื่อสารยังไงทุกคนมีโทรศัพท์อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตทุกคนต้องมีสื่อเป็นของตัวเอง หากใครไม่มีสื่อเป็นของตัวเองไม่ได้ ยุคปัจจุบันความสนใจต่างแยกย่อยไปหมด เราทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็มีผู้ติดตามเอง แต่ที่สำคัญต้องฟังความคิดเห็นที่ย้อนกลับมา ทำให้สื่อเป็นหนึ่งในความบันเทิงของกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบสื่อหรือโปสเตอร์ต้องให้ดูแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้ใกล้ตัว ก่อนทำสื่อต้องทราบก่อนว่ากลุ่มผู้รับชมเป็นใคร โดยย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องนั้นให้แตกต่างและกระแทกใจ “อย่าทำมาร์เก็ตติ้งด้วยตา อย่าทำมาร์เก็ตติ้งด้วยหู ต้องดูต้นน้ำกลางน้ำด้วย ต้องสนุกที่จะได้ทำ อย่าฝืนตัวเอง

          ในส่วนของ นายเดชา วัฒนสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท คิดมีฤทธิ์ จำกัด ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำสื่อออนไลน์ของหน่วยงานท้องถิ่น ดังนี้ “ถ้าสมมติเราตรวจงานเป็นสื่อที่ได้จะตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะสื่อถึง การทำสื่อก็เหมือนกับการบอกเล่าทั่วไป แต่สรุปรวมให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การทำสื่อออนไลน์ต้องวางคาแรคเตอร์เพื่อให้คนที่เข้ามาดูรู้ว่าที่นี่มีคาแรคเตอร์แบบนี้นะ เลือกใช้สี ฟอนต์ และดีไซน์เดิม ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจำจด เทสคอนเทนท์ในช่วงแรกอาจจะทำหลาย ๆ แบบหน่อย แต่เมื่อจับทางได้แล้วเราจะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น”

          สำหรับช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอสื่อการเรียนรู้สินไซโมเดล ในหัวข้อ “สินไซโมเดล เศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น” โดยนาง สุมาลี สุวรรณกร ซึ่งวิทยากรได้เล่าถึงวรรณกรรมเรื่องสินไซ อันเป็นที่รู้จักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศลาว การใช้วรรณกรรมสินไซเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง นำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนสินไซมาต่อยอดเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน นาง สุมาลี สุวรรณกร กล่าวว่า “การจะสร้างอัตลักษณ์ชุมชน จะต้องรู้จักบ้านของเราก่อน สืบค้นว่าชุมชนเรามีดีอะไรบ้างโดยยึดหลักเมืองสามดี คือพื้นที่ดี ภูมิดี และสื่อดี หลังค้นหาสามข้อดีแล้วให้ท่านทำการประชาคมหมู่บ้าน สอบถามความคิดเห็นจากคนในชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ให้น่าเชื่อถือเพื่อฝึกการเป็นมัคคุเทศนก์ ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์พัฒนาสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันเมืองสาวะถีเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชน มีคนเข้ามาศึกษาดูงาน เป็นชุมชนท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ หากถามว่าทุกพื้นที่สามารถทำแบบสาวะถีได้หรือไม่ ตอบเลยว่าได้ค่ะ เพียงแต่ท่านต้องหาศักยภาพของชุมชนให้เจอ เริ่มจากฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่เคยมี ค้นหาสถานที่สำคัญที่ถูกลืม มีคนในชุมชนหลายคนไม่ทราบว่าชุมชนของเรามีสิ่งนี้สถานที่นี้อยู่ เราต้องทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่า สุดท้ายนำสิ่งที่เรามีไปจัดทำผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนให้แก่คนในชุมชน เกิดระบบการเงินและการบัญชีจนนำไปสู่การจดทะเบียนนิติบุคคล”