พมส.1 ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ เทศบาลที่ได้รับทุน ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ เทศบาลที่ได้รับทุน ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธสิ่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 จัดประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ กับเทศบาลที่ได้รับทุน ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ในวันที่ 7 เมษายน 2566 ผ่านระบบ ZOOM MEETING โดยมีคณะทำงานฯ จากหน่วย บพท. มูลนิธิส่งเสริมการปกครองอท้องถิ่น และบริษัท  AI & Robotics Ventures (ARV)  รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่หารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ร่วมกับนักวิจัยในโครงการฯ รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ก่อนการลงมือปฏิบัติการวิจัย

          สาระโดยสังเขปของการหารือนี้  ผศ.ดร.ฌาณ เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พูดถึงการดำเนินงานด้านโครงการวิจัยที่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วม ได้ยกเรื่องของโครงการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองมาพูดถึงหลักการความเป็นมา ขั้นตอน รวมไปถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่มีการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมในหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ซึ่งจากการดำเนินงานคาดหวังว่าจะได้ฐานข้อมูลเมืองที่ทันสมัย บุคลากรเกิดการพัฒนาเข้าสู่ Digital รวมถึงการเข้าไปศึกษาของดี ที่เด่น คนดังในแต่ละพื้นที่ และสามารถต่อยอดงานวิจัยอื่นในอนาคต

          ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิต เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่คอยอำนวยความสะดวก ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงการติดตามความเคลื่อนไหว แต่เป็นการคาดการณ์ถึงทิศทางในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและวางแผนการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) ถือเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในการดำเนินโครงการวิจัยฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยี เข้ามาบริหารจัดการในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ โดยครั้งนี้ได้มีการเสนอการแก้ไขปัญหาขยะโดยนำเอาระบบ Digital เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการ เพื่อที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะในแต่ทุกพื้นที่ต่อไป

          สำหรับการประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ เทศบาลที่ได้รับทุน ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ นี้ถือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเป้าหมาย รวมถึงผลลัพธ์ในกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุให้สำเร็จ ผ่านการพัฒนา platform เมือง และบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในด้าน digital ระเบียบวิธีวิจัย รวมไปถึงสร้างโอกาสในการเกื้อกูลกันในเครือมหาวิทยาลัย รวมถึงภาคีเครือข่ายอื่น