พมส.1 ลงพื้นที่ครั้งที่ 1 สำหรับการออกแบบภาพความสำเร็จในการดำเนินโครงการวิจัยของเทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ลงพื้นที่ครั้งที่ 1 สำหรับการออกแบบภาพความสำเร็จในการดำเนินโครงการวิจัยของ “เทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี”

ด้วยมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ภายใต้แผนงานริเริ่มสำคัญ (FLAGSHIP) “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโต ใหม่” โปรแกรมที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ในการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนา เมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 เพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วย กลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศผ่านการปฏิบัติการบนฐานงานวิจัยในประเด็นปฏิบัติการ พัฒนาระบบ และกลไกการนำข้อมูลมาสร้างมูลค่าและคุณค่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาองค์ความรู้ และกลไกการเปลี่ยนแปลงองค์กรกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัลอย่างเหมาะสม โดยในวันที่ 31 มีนาคม 2566 หลักสูตร พมส.1 มีกำหนดการเข้าเยี่ยมและร่วมออกแบบภาพ ความสำเร็จในการดำเนินโครงการวิจัยของเทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองเสนา และห้องประชุมเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี

         โดย ผศ.ดร. ฌาน ธรรมเรืองสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะนักวิจัยโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ พร้อมด้วย ดร. จักรพันธ์ จุลละโพธิบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์เวนเจอร์จำกัด และคณะทำงาน ได้นำพานักวิจัยในโครงการวิจัยของเทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี หารือออกแบบภาพความสำเร็จในการดำเนินโครงการวิจัย ของทั้งสองเทศบาล พร้อมทำความเข้าใจกับการสร้างการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี” ตามที่มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับ บริษัท AI & Robotics Ventures (ARV) เทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่ต่างเล็งเห็นว่าหน่วยงานของตนและภาคีเครือข่าย ต่างมีส่วนเติมเต็ม หนุนเสริมการทำงานร่วมกัน รวมทั้งมีภารกิจ เป้าหมาย ความสนใจ และพันธกิจที่ตรงกัน จึงได้มีการประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ในครั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ platform digital ข้อมูลเมือง

         ในการดำเนินโครงการวิจัยฯ นั้นถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกับพหุเครือข่ายเชิงพื้นที่ แล้วยังถือเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานผู้รับทุนวิจัย ที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์ม digital ข้อมูลเมือง สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้ท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน และนำผลจากการศึกษาวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลเมือง มาเป็นส่วนประกอบในการวางแผนติดตามผล และสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมือง เพื่อที่จะยกระดับระดับการจัดการให้ทันสมัย สร้างความแม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนเมืองได้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน

         สำหรับภาพความสำเร็จในการดำเนินโครงการวิจัยของเทศบาลเมืองเสนา และเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีนี้ คือการทำให้เกิดการนำข้อมูลเมืองของพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองเสนา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นมายกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ พร้อมจับมือภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ผสมผสานกับความคาดหวังให้เทศบาลสามารถยกระดับและพัฒนาเป็นเมืองแห่ง smart city โดยนำ digital platform หรือเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยง แก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ต่อยอดสนับสนุนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

         หลังการร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยฯ ครั้งนี้ นายชัยธวัฒน์ โอภาสสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองเสนา และนายเอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี ยังได้เน้นย้ำว่าหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ต่างมุ่งหวังผลที่ปฏิบัติได้สามารถให้เกิดการนำข้อมูลเมืองในเขตพื้นที่เป็นพื้นที่ต้นแบบ และถือเป็น show case ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล แก้ไขปัญหา วางแผนติดตามผล เพื่อยกระดับ ตลอดจนบริหารจัดการและพัฒนาเมืองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองขึ้นได้อย่างต่อไป

         ในช่วงท้าย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ บพท. ยังได้ให้เกียรติมากล่าวโดยสังเขปปิดท้ายว่า “เชื่อว่าท้องถิ่นคือตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หากขับเคลื่อนด้วยของดี คนดี และคนดัง หรือสร้างความเชื่อมั่นด้วยนวัตกรรม การยกระดับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบก็จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป”